จาก Office Syndrome สู่ยุค Work From Home Syndrome ใครว่าทำงานที่บ้านแล้วจะชิล

นับตั้งแต่ได้สัมผัสกับชีวิตแบบ Work From Home เป็นครั้งแรก ในใจก็ได้แต่คิดว่าความสุขของชีวิตทำงานกำลังจะประดังเข้ามา เพราะเรากำลังไม่ต้องยื้อแย่งที่ว่างบนท้องถนน ทั้งความเครียดในวันวุ่นๆ ก็คงลดน้อยลง จนทำงานได้แบบชิลๆ ทั้งวันแน่ๆ

แต่เมื่อวันเวลาของการ WFH ค่อยๆ ผ่านไป กลับกลายเป็นเราเพิ่งรู้สึกตัวว่ากำลังเผชิญหน้ากับความเครียด จนแทบจะเป็น Work From Home Syndrome แทน Office Syndrome แล้ว กระทั่งวิธีการคลายเครียดเดิมๆ ที่เคยทำก็ดูจะเอาไม่อยู่ จนเราแทบไม่เหลือทางเลือกอื่นใด นอกเสียจากสรรหาวิธีการใหม่ มารับมือกับอาการที่ไม่คุ้นเคยนี้ เพื่อทวงวันคืนสงบสุขกลับมาโดยเร็วที่สุด

จากคำบอกเล่าของ แพทย์หญิงดุจฤดี อภิวงศ์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระรามเก้า เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 รวมถึงการทำงานแบบ WFH คือสิ่งที่ส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจอย่างมาก ปัญหาที่คนส่วนใหญ่พบเจอคือภาวะตึงเครียดจากการต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจากมาตรการเพื่อลดการระบาด หรือมาตรการทำงานของบริษัทก็ตาม

“เมื่อพื้นที่ที่ควรเป็นบ้านสำหรับพักผ่อน เปลี่ยนมาเป็นที่ทำงาน ผู้คนส่วนใหญ่จึงมีปัญหาในการปรับตัวที่เลี่ยงได้ยาก ทั้งเส้นแบ่งชีวิตงานและชีวิตพักผ่อนไม่ชัดเจน จนไม่สามารถปิดจบงาน (cut off) ในแต่ละวันได้ เกิดความเหนื่อยล้าจากการประชุมทางไกลที่ต้องใช้ทั้งสมาธิและเวลามากขึ้นกว่าเดิม หรือกระทั่งการถูกคาดหวังให้สแตนด์บายงานตลอดเวลา จนเกิดความกดดันและพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ”

“นอกจากนี้ การทำงานในพื้นที่ปิด ทั้งในห้อง คอนโด หรือทาวน์เฮ้าส์ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความเครียดหลายอย่าง เช่น การอยู่กับตัวเองมากไป จนรู้สึกอุดอู้ เกิดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มีพื้นที่ให้ระบายออก หรือบางคนที่อยู่ร่วมกับสมาชิกครอบครัวเป็นเวลานาน ก็มีสิทธิ์ทำให้เกิดความเครียดที่ถูกจำกัดพื้นที่ และตามมาซึ่งปัญหาด้านความสัมพันธ์ได้เช่นกัน” คุณหมอดุจฤดี กล่าว

เมื่อมองลึกลงไป ปัญหาของสถานการณ์โควิด-19 และการ WFH ดูจะเป็นปัจจัยใหญ่ที่ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะเครียดครบทั้งด้านร่างกายจากเวลาพักผ่อนที่น้อยลง ความเครียดด้านจิตใจจากการวิตกกังวลเรื่องโรคระบาดและหน้าที่การงาน รวมถึงความเครียดด้านสังคมเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน จนยากต่อการปรับตัว

และแน่นอนว่าทันทีที่สภาวะความเครียดเริ่มก่อตัวในร่างกาย สิ่งที่แย่ยิ่งกว่าคือผลกระทบแบบนามธรรมของอาการต่างๆ ที่จะตามมาอย่างต่อเนื่องเข้าทำร้ายเราพร้อมๆ กันจนช้ำไปทั้งตัว เช่นการมีภูมิคุ้มกันต่ำลง นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยได้ง่าย หรือผลกระทบด้านจิตใจ ที่จะทำให้เราหงุดหงิด-โมโหง่าย ขาดสมาธิ อารมณ์แปรปรวน มีอาการหลงลืม

ที่นี้แน่นอนว่าเมื่อเกิดสภาวะเครียด หลายคนจึงเริ่มหันไปพึ่งพาพฤติกรรมที่สร้างการผ่อนคลายหรือระบายอารมณ์ในระยะสั้น แต่ในเมื่อการ WFH ไม่รู้จะจบลงตอนไหน การผ่อนคลายจะเริ่มทำบ่อยเข้าจนติดเป็นนิสัย จนส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในระยะยาว เช่น การติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ติดเล่นการพนัน กินที่มากขึ้น เป็นต้น

ซ้ำร้ายแล้ว การต้องตกอยู่ในภาวะสภาพจิตใจย่ำแย่เช่นนี้เป็นเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ตามมาอย่าง “อาการซึมเศร้า” อีกด้วย

คุณหมอดุจฤดี กล่าวว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่อันตราย และมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้ง่ายกับบุคคลที่มีความเครียดสะสม โดยเฉพาะกับสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ดังนั้นการสำรวจตัวเองถึงความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า จึงถือเป็นแนวทางสำคัญต่อการ WFH ซึ่งถ้าเรามีอาการอยู่ในอารมณ์เศร้าหมอง ไม่มีความสุขตลอดทั้งวัน ไม่อยากทำอะไร นอนไม่หลับหรือหลับมากไป เบื่ออาหารหรือรับประทานมากผิดปกติ ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือรู้สึกอยากหายไป ติดๆ กันหลายวัน อยู่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ “ทั้งหมดนี้เป็นอาการของโรคซึมเศร้า และเป็นสัญญาณว่าเราควรไปพบจิตแพทย์โดยด่วน”

ถ้าโชคดีหน่อยหากสำรวจตัวเองแล้วว่าอาการยังไม่ลงลึกไปถึงขั้นซึมเศร้า แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะจัดการความเครียดไปได้แล้ว อย่างไรเสียในช่วงนี้ การรับมือกับความเครียดก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่สำหรับ WFH ไม่ต่างอะไรกับแท็บเล็ต หรือโปรแกรม ZOOM เลยแม้แต่น้อย

ถ้าเราเป็นคนชอบออกกำลังกาย หรือมีเพลย์ลิสต์เพลงชื่นชอบส่วนตัวอยู่ใกล้ๆ นั่นจะหมายถึงการลดความเครียดอย่างมีคุณภาพได้ไปเปลาะหนึ่งแล้ว แต่หากเสียงเพลงยังช่วยได้ไม่มากพอ บางคนอาจชื่นชอบ เทรนด์การฟังเสียงลักษณะอื่นแทน เช่น เสียงธรรมชาติ น้ำตก ฝนตก หรือแม้กระทั่งเสียง ASMR (autonomous sensory meridian response) อย่างเสียงแคะหู เสียงกระซิบ เสียงลูบสิ่งของ เสียงกิน ก็มีหลายคนให้ประสบการณ์ว่าเสียงเหล่านี้ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายได้จริงๆ

การคลายความเครียดมีหลากหลายรูปแบบขึ้นกับความสุขของแต่ละคน แต่นอกเหนือจากนี้ ทุกคนควรรู้จักกับแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างนิสัยให้เคยชินกับสถานการณ์โควิด-19 และ WFH เช่นการติดตามข่าวสารอย่างรู้เท่าทัน หรือลดความถี่ในการติดตามข่าวสารลง แน่นอนว่ามันจะทำให้เรารู้ช้ากว่าคนอื่นบ้าง แต่หากข่าวสารนั้น มีเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง คัดกรองมาแล้วและไม่ทำให้เราเครียดและเหนื่อยล้า มันก็ดีกว่าการรับข่าวสารมากไปเป็นไหนๆ

“หลายๆ ความเครียดจาก WFH ส่วนใหญ่มักเป็นผลที่มาจากการทำงาน ดังนั้นเราต้องไม่ลืมว่างานไม่ใช่ทั้งหมดในชีวิตเรา ในเมื่อทุกคนล้วนมีกิจกรรมที่ชื่นชอบอยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดที่เราจะเอาเวลาเล็กๆ น้อยๆ มาหาความสุขเพื่อเยียวยาตัวเองบ้าง หรือหากใครไม่มี ก็ลองใช้โอกาสนี้หากิจกรรมที่ชอบดู เพื่อมองเห็นจุดแบ่งชีวิตและงานได้ชัดเจนมากขึ้น ให้ความสุขเล็กๆ มาแบ่งเบาภาระงานที่แบกอยู่ ให้เรารู้สึกเบาตัวขึ้น เท่านี้ทุกคนก็น่าจะผ่านพ้นช่วง WFH ไปได้โดยไม่เครียดแล้ว” คุณหมอดุจฤดี ทิ้งท้าย