ขับ Suzuki Swift up to Max สปีดเต็มแม็กซ์กลางแทรคสนามแข่ง สนุก เอาอยู่ทุกโค้ง

ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจถาโถมจากเชื้อร้ายไวรัส “โควิด 19” ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมค่ายรถที่สอบผ่านความท้าทายนี้ มีค่าย ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ที่ยังสามารถนับยอดขายที่ยังเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ นับเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง กับการที่ลูกค้าคนไทยให้ความไว้วางใจและเชื่อมั่นในแบรนด์ ซูซูกิ จนสามารถสร้างยอดขายรถอีโคคาร์ได้กว่า196,266 คันในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มการผลิตในปี 2555 เป็นต้นมา ที่ผ่านมาซูซูกิจึงพยายามจัดกิจกรรมเพื่อผลักดันยอดขายให้บรรลุ 200,000 คัน ล่าสุดได้จัดกิจกรรม “Swift up to Max” ให้สื่อมวลชนสายยานยนต์ได้ทดสอบ Suzuki swift ในสนามแข่งพีระอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต ในหลายๆสถานีที่จำลองขึ้นมาเพื่อให้รถได้แสดงสมรรถนะออกมา

สำหรับ Suzuki Swift ที่ใช้ขับในสนามก็เป็นเครื่องยนต์มาตรฐานเครื่องยนต์รหัส K12M แบบเบนซิน 4 สูบ ขนาด 1.2 ลิตร หัวฉีดคู่หรือ DUALJET ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยกำลังสูงสุด 83 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 108 นิวตันเมตร ที่ 4,400 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ CVT พร้อมรองรับน้ำมันเชื้อเพลิงประเภท E20 ประหยัดเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยกว่า 23 กิโลเมตร/ลิตร

Suzuki Swift มาพร้อมระบบ TCS ช่วยในการควบคุมรถขณะขับขี่บนถนนลื่นหรือในทางโค้ง พร้อมระบบเบรก ABS และ EBD ระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถ ESP ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชันและยังเหมาะกับการขับในเมืองด้วยระบบ IDLING STOP ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันขณะรถหยุดนิ่ง ขับขี่อย่างมั่นใจในทุกเส้นทางด้วยระบบ Hill Hold Control ช่วยออกตัวบนทางลาดชัน และปลอดภัยมากขึ้นด้วยถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า

สำหรับการขับขี่ในสนามพีระฯ ที่มีความยาว 2,410 เมตร มีโค้งกว่า 10 โค้งทีมงานได้เซ็ตสถานีต่างๆไว้เพื่อให้ Suzuki Swift คันนี้จะทำได้แสดงออกถึงสมรรถนะได้อย่างเต็มที่ โดยเริ่มจากทางตรงที่ให้การออกตัวที่กดคันเร่งจนมิดในความเร็วที่คิดว่าผู้ขับควบคุมรถได้จากนั้นขับวนรอบกรวยที่วางไว้ในรัศมีวงเลี้ยวที่แคบโดยไม่ต้องถอยรถ รถสามารถไปได้เนื่องจากอีโคคาร์คันนี้มีรัศมีวงเลี้ยวแคบมากเพียง 4.8 เมตรเท่านั้น จากที่รถมีฐานล้อยาว 2,450 มิลลิเมตร มีช่วงล้อหน้ากว้าง 1,530 มิลลิเมตร ช่วงล้อหลังกว้าง 1,525 มิลลิเมตร ตัวถังกว้าง 1,735 มิลลิเมตรยาว 3,845 มิลลิเมตร

จากนั้นเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าโค้ง S (Cornering)ของสนามพีระฯความเร็วในโค้งประมาณ 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงรถก็ไม่มีอาการท้ายปัด(Over Steering Correction )หรือเสียการทรงตัวแต่อย่างใด นอกจากได้ยินเสียงเอี๊ยดอ๊าดจากแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ และล้อยางบดกับพื้นแทรคลั่นสนาม

สถานีต่อมาเป็นสถานีสลาลอม(Slalom)ที่มีกรวยวางไว้เพื่อให้ผู้ขับขับรถซิกแซ็กหักหลบสิ่งกีดขวาง พวงมาลัยตอบสนองทันใจทำงานร่วมกันกับระบบกันสะเทือนหน้าแม็คเฟอร์สันสตรัทด้านหน้าและทอร์ชั่นบีมด้านหลังทำให้ผ่านสถานีนี้ได้ไม่ยาก

ต่อมาถึงสถานี การเบรก หักหลบสิ่งกีดขวาง (Braking & Lane Change) ในย่านความเร็วตามที่ผู้ขับขี่มีทักษะที่คิดว่าจะเอารถอยู่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและคล่องตัวเมื่อจำเป็นต้องหมุนพวงมาลัยอย่างรวดเร็วอย่างกะทันหัน เพื่อต้องหลบสิ่งกีดขวางโดยไม่คาดคิด โดยตัวรถก็ยังอยู่ในการควบคุมไม่หลุดออกไปจากเส้นทางที่ถูกกำหนดไว้แต่อย่างใด

สถานีสุดท้ายเป็นการทดสอบระบบเบรกเพื่อหยุดรถ โดยต้องขับรถในความเร็วเท่าที่ทำได้ในสนามเมื่อถึงจุดที่ต้องเบรกต้องกดเเเป้นเบรกอย่างเเรงเพื่อให้รถหยุดในระยะทางที่สั้นที่สุด Suzuki Swift ก็ทำได้แบบไม่ต้องลุ้น

ทั้งนี้ Suzuki Swift ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่น ดีไซน์ภายนอก สปอร์ต ปราดเปรียว ภายในทันสมัย ตกแต่งด้วยวัสดุสีเงินสไตล์สปอร์ต กว้างสบายรองรับการใช้งานได้หลากหลาย พร้อมพวงมาลัยมัลติฟังก์ชันทรง D-Shape เพิ่มพื้นที่วางขาและปรับระดับได้ 4 ทิศทาง เบาะนั่งทรงสปอร์ตโอบกระชับสรีระ

นอกจากนี้ Suzuki Swift ยังมาพร้อม แพลตฟอร์ม HEARTECT เทคโนโลยีเฉพาะของซูซูกิที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้รถมีน้ำหนักน้อยลงแต่คงความแข็งแกร่งและประหยัดน้ำมันมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างตัวถังแบบ TECT ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตัวรถ พร้อมระบบ NVH ช่วยกันการสั่นสะเทือน และลดเสียงรบกวนจากภายนอก
นับเป็นอีโคคาร์น่าสนใจรุ่นหนึ่งของตลาดนี้ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 557,000 – 629,000 บาท