คปภ.ผงาดในภูมิภาคเอเชีย เข้าร่วมประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน (ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) ในเดือนธันวาคม 2565

สำหรับการประชุมสามัญประจำปี AFIR ครั้งที่ 6 ในวันที่ 6 กันยายน 2565 มีวาระการประชุมฯ ที่สำคัญประกอบด้วยการให้ความเห็นชอบแนวทางการคัดเลือกประธาน AFIR โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ Mr. Clemeng Cheung CEO ของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของฮ่องกง ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน AFIR ต่อเนื่องจนถึงปี 2566 และเห็นชอบแนวทางการจัดตั้ง Contingency Committee สำหรับการคัดเลือกประธาน AFIR รวมถึงการกำหนดแผนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรของหน่วยงานสมาชิก AFIR และการหารือเรื่องเจ้าภาพการจัดการประชุมประจำปี AFIR และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ประจำปี 2566 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ ในปีถัดไป

ในส่วนการประชุมผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 5

ในวันที่ 7 กันยายน 2565 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ AFIR FSI BIS และ IAIS มีการเสวนาในหัวข้อที่น่าสนใจหลายหัวข้อ อาทิ การเสวนาในหัวข้อ “ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัย” โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในประเทศยูเครน และประเด็นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินโลก ราคาพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหารที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางทั่วโลกมีการยกระดับมาตรการต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อภาคประกันภัยอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งในด้านผลตอบแทนการลงทุน ไปจนถึงการประเมินมูลค่าหนี้สิน ซึ่งการเสวนาฯ มุ่งเน้นการค้นหาความเชื่อมโยงของเครือข่ายความเสี่ยง รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยเลขาธิการ คปภ. ได้เสนอให้ต้องบริหารความเสี่ยงในเรื่อง cyber attack ด้วย เพราะปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอย่างมาก และการเกิดความขัดแย้งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในภูมิภาคใด ๆ ในโลก ก็ย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงในเรื่องนี้ได้

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ประกันภัยสีเขียวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” โดยได้กล่าวถึงการที่หน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากทั่วโลกมีการยกระดับกรอบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่อระบบการเงินอันเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีความพร้อมที่แตกต่างกัน ตลอดจนปัจจุบันยังไม่มีแนวปฏิบัติสากล ดังนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาฯ จึงมีการหารือถึงทิศทางการดำเนินการเพื่อรับมือต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงผลกระทบต่อภาคประกันภัยทั้งบริษัทและหน่วยงานกำกับดูแล นอกจากนั้นยังจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องแนวทางในการผนวกความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเข้ากับกรอบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ซึ่งรวมถึงการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ                                                       

ส่วนการเสวนาในหัวข้อ “การอำนวยความสะดวกในการปรับตัวสู่ net-zero” ได้กล่าวถึงเรื่องที่บริษัทประกันภัยมีการเร่งปรับตัวสู่การเป็น net-zero ซึ่งอาจทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เริ่มตั้งแต่การปรับทางเลือกในการลงทุนของบริษัทจนถึงการปรับแนวทางในการทำสัญญาประกันภัย ซึ่งจะส่งกระทบต่อ risk profile ของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในประเด็นดังกล่าว ผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ได้ร่วมกันอภิปรายถึงความยุ่งยากที่อาจเกิดขึ้นต่อสถานะความมั่นคงของบริษัทในขณะอยู่ระหว่างการดำเนินแผนการปรับตัวสู่การเป็น net-zero ซึ่งรวมถึงแนวทางการกำกับดูแลแผนการปรับตัวดังกล่าวและการระบุความเสี่ยงอุบัติใหม่ นอกจากมุมมองด้านความเสี่ยง ผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาถึงบทบาทของผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในการให้ความสนับสนุนการปรับตัวสู่การเป็น net-zero ที่อาจรวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

“การประชุมนายทะเบียนประกันภัยเอเชียในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีประเด็นร่วมสมัยหลายประเด็นที่น่าสนใจ และเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยมีโอกาสแสดงศักยภาพในเรื่องการพัฒนาเครื่องมือ CRAF การทดสอบความพร้อมรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำของหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตลอดจนได้หารือกับ นาย Jonathan Dixon เลขาธิการ IAIS ถึงความเป็นไปได้ที่สำนักงาน คปภ. ของไทยจะเข้าไปมีบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสเสนอแนะในเรื่องต่าง ๆ ที่สามารถจะนำไปต่อยอดเพื่อผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน (ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) ในเดือนธันวาคม 2565 ที่ประเทศไทย โดยสำนักงาน คปภ. จะเป็นประธานและเป็นเจ้าภาพในการประชุม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 

…………………………………………………………………………